วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ลุมพินีวันหลังพุทธปรินิพพาน

ลุมพินีวันหลังพุทธปรินิพพาน

หลังพุทธปรินิพาน กษัตริย์ซึ่งได้รับส่วนแบ่งแห่งพระบรมสารีริกธาตุ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในสถูปแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากลุมพินีวันนัก จวบจนพุทธศักราชได้ 294 ปี พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จนมัสการพุทธสังเวชนียสถานทั่วทั้งชมพูทวีป พร้อมด้วยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ (หรือพระอุปคุต) ได้เสด็จมานมัสการ ณ ลุมพินีนี้ พระองค์โปรดฯ ให้พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระนำทางและชี้จุดที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ แล้วทรงสร้างอาราม พระเจดีย์และเสาศิลาจารึกไว้เป็นสัญลักษณ์ว่า ลุมพินีวันนี้มีความสำคัญอย่างไร ซึ่งเสาศิลาหินทรายของพระเจ้าอโศกยังคงตั้งอยู่ ณ ที่เดิมจนถึงปัจจุบัน[5]
สระสรงสนาน และ มหามายาเทวีวิหาร หลังการบูรณะ
หลังจากยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช เรื่องราวของลุมพินีวันได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาเกือบ 700 ปี โดยไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารที่สามารถสืบค้นถึงความเป็นไปของลุมพินีวันในช่วงนี้ได้ จนในประมาณ พ.ศ. 900 สมณะฟาเหียนได้เดินทางจากประเทศจีนมาถึงลุมพินีวัน ท่านได้กล่าวไว้สั้น ๆ เพียงว่าได้พบบ่อสรงสนาน และระบุที่ตั้งของลุมพินีวันว่าอยู่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 14-16 กิโลเมตร[5]
ต่อมา ในปี พ.ศ. 1181 สมณะเฮี้ยนจัง หรือ พระถังซำจั๋ง ได้เดินทางมาถึงลุมพินีวัน โดยได้จดบันทึกระบุที่ตั้งสถานที่ต่าง ๆ ในลุมพินีวันไว้คร่าว ๆ ท่านได้กล่าวถึงบ่อสรงสนาน ซึ่งคงเป็นบ่อเดียวกับที่สมณะฟาเหียนกล่าวไว้ในบันทึก ซึ่งบ่อนี้ยังคงมีอยู่มาจนปัจจุบัน และกล่าวว่าไม่ไกลจากบ่อนั้นไปประมาณ 24 ก้าว มีต้นสาละต้นหนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จากจุดนั้นไปทางใต้มีเจดีย์องค์หนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่พระอินทร์เสด็จจากสวรรค์ลงมาต้อนรับพระราชโอรสที่ประสูติใหม่ ใกล้ ๆ กันมีเจดีย์อีกสี่องค์ ที่สร้างไว้เพื่อถวายแก่ท้าวจตุโลกบาล ที่ทำหน้าที่ถวายอภิบาลพระโอรสประสูติใหม่ และใกล้กันนั้นมีเสาอโศกรูปสิงห์ประดิษฐานอยู่บนยอด[6]
จวบจน พ.ศ. 2438–2439 เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม และคณะ ได้ค้นพบเสาศิลาพระเจ้าอโศกซึ่งถูกฝังดินไว้และพบจารึกเป็นอักษรพราหมีระบุว่าที่แห่งนี้คือสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จากนั้นจึงเริ่มมีการขุดค้นทางโบราณคดี โดยพบซากปรักหักพังจำนวนมาก ซากสถูปกว่า 50 องค์ และซากวิหารอาราม มีอายุตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมริยะ ราชวงศ์ศุงคะ ราชวงศ์กุษาณะ และสมัยคุปตะ (ประมาณ พ.ศ. 300 - พ.ศ. 950) [7]

จุดแสวงบุญและสภาพของลุมพินีวันในปัจจุบัน

พุทธอุทยานประวัติศาสตร์ของโลกปัจจุบัน ลุมพินีวันได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุสำคัญที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือ "เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช" ที่ระบุว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ นอกจากนี้ ยังมี "วิหารมายาเทวี" ภายในประดิษฐานภาพหินแกะสลักพระรูปพระนางสิริมหามายาประสูติพระราชโอรส โดยเป็นวิหารเก่ามีอายุร่วมสมัยกับเสาหินพระเจ้าอโศก ปัจจุบัน ทางการเนปาลได้สร้างวิหารใหม่ทับวิหารมายาเทวีหลังเก่า และได้ขุดค้นพบศิลาจารึกรูปคล้ายรอยเท้า สันนิษฐานว่าเป็นจารึกรอยเท้าก้าวที่เจ็ดของเจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงดำเนินได้เจ็ดก้าวในวันประสูติ
ลุมพินีวันได้รับการพัฒนาจากชาวพุทธทั่วโลก โดยเฉพาะจากโครงการฟื้นฟูพุทธสถานลุมพินีวันให้เป็น "พุทธอุทยานทางประวัติศาสตร์ของโลก" ซึ่งเป็นดำริของ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ท่านตั้งใจเริ่มโครงการฟื้นฟูให้ลุมพินีวันเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธบนพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้ากว่า 6,000 ไร่ (ขนานตามแนวเหนือใต้) แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับปลูกป่าและสร้างวัดพุทธนานาชาติจากทั่วโลกกว่า 41 ประเทศ โดยโบราณสถานลุมพินีวันตั้งอยู่ทางด้านใต้ ปัจจุบัน มีวัดไทยและวัดพุทธทั่วโลกไปสร้างอยู่จำนวนมากและมีขนาดใหญ่โต เพื่อรองรับพุทธศาสนิกชนที่มาสักการะแสวงบุญ

ความเป็นเลิศพระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก

ความเป็นเลิศพระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก


1. รูปสมบัติ
     - พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีร่างกายที่งดงาม และแข็งแรงเป็นเลิศ  ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ
     -  มีบุญมากสามารถเลือกเกิดได้
ปัญจมหาวิโลกนะ คือ เลือก

     1. ทวีป
     2. ประเทศ
     3. อายุขัยของมนุษย์
     4. ตระกูล
     5. มารดา


2. คุณสมบัติ
ทางโลก
• มีปัญญามาก ศึกษาจบศิลปศาสตร์ 18 ประการตั้งแต่พระชนมายุเจ็ดปี
     1. ยุทธศาสตร์  วิชานักรบ
     2. รัฐศาสตร์  วิชาการปกครอง
     3. นิติศาสตร์   วิชากฎหมายและจารีตประเพณีต่างๆ
     4. พาณิชยศาสตร์  วิชาการค้า
     5. อักษรศาสตร์  วิชาวรรณคดี
     6. นิรุกติศาสตร์  วิชาภาษาทั้งของตน และของชนชาติ ที่เกี่ยวข้องกัน
     7. คณิตศาสตร์  วิชาคำนวณ
     8. โชติยศาสตร์  วิชาดูดวงดาว
     9. ภูมิศาสตร์  วิชาดูพื้นที่ และรู้จักแผนที่ของประเทศต่างๆ
     10.โหราศาสตร์  วิชาโหรรู้จักพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ
     11.เวชศาสตร์  วิชาแพทย์
     12.เหตุศาสตร์  วิชาว่าด้วยเหตุผล หรือตรรกวิทยา
     13.สัตวศาสตร์  วิชาดูลักษณะสัตว์ และรู้เสียงสัตว์ว่าดี หรือร้าย
     14.โยคศาสตร์  วิชาช่างกล
     15.ศาสนศาสตร์  วิชาศาสนารู้ความเป็นมา และหลักศาสนาทุกศาสนา
     16.มายาศาสตร์  วิชาอุบาย หรือตำหรับพิชัยสงคราม
     17.คันธัพพศาสตร์ วิชาร้องรำหรือนาฎยศาสตร์ และวิชาดนตรี หรือดุริยางค์ศาสตร์
     18.ฉันทศาสตร์   วิชาการประพันธ์

• พระองค์มีบุญมากสามารถเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้
พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก
พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก

ทางธรรม
    • เป็นพระสัมมาสัมพุทธ ผู้เลิศกว่าผู้ใดในโลก ด้วยพุทธคุณ คือ

     - เป็นผู้มีความบริสุทธิ์ กำจัดกิเลสได้ด้วยพระองค์เอง ไม่เบียดเบียนใคร
     - มีปัญญามาก รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งปวง
     - มีความกรุณา ทรงสั่งสอนสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ตามพระพุทธองค์

3. ทรัพย์สมบัติ
     • ขุมทรัพย์ทั้ง 4 ซึ่งเป็นสหชาติ บังเกิดขึ้นมาเมื่อตอนประสูติ
     • ทรงอยู่ใน พระราชวัง ซึ่งเป็นปราสาท 3 ฤดู

     • เป็นรัชทายาท ผู้จะครองราชสมบัติต่อไป
     • มีบุญมาก สามารถเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ปกครองทวีปทั้ง 4
พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก
พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก

 4. ความอัศจรรย์ของคำสอน ธรรมคุณ 6
คำสอนของพระพุทธองค์มีจริง ดีจริง พิสูจน์ได้จริง ควรแก่การเข้าถึง เพื่อเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งภายใน
     • เป็นคำสอนที่ไม่มีโทษ ผู้ปฏิบัติตามย่อมได้รับประโยชน์เพียงอย่างเดียว นั่นคือการกำจัดทุกข์ และเข้าถึงความสุขที่แท้จริง
     • สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง
     • ผู้ปฏิบัติย่อมได้รับผลเสมอ ไม่จำกัดกาลเวลา
     • ใครๆ ก็สามรถพิสูจน์ได้ ไม่จำกัด
     • เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ ให้เกิดขึ้นในตน

5. ปัจฉิมโอวาท คำสอนสุดท้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ขอให้เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน (ผู้อื่น) ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก
พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก

เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ๓ ประการ ในวันวิสาขบูชา

เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ๓ ประการ ในวันวิสาขบูชา

ประสูติ
           เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ ลุมพินีสถาน เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครเดิมของพระนาง เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ครั้นพระกุมารประสูติได้ ๕ วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ออกบวช จนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณอันประเสริฐสูงสุด) สำเร็จเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือว่าวันนี้เป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า


ตรัสรู้
          เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมโพธิญาณ ณ ร่มพระศรีมหาโพธิบัลลังก์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี
การตรัสอริยสัจสี่ คือของจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ของพระพุทธเจ้า เป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เสมอเหมือน วันตรัสของพระพุทธเจ้า จึงจัดเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่ให้เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลกชาวพุทธทั่วไป จึงเรียกวันวิสาขบูชาว่า วันพระพุทธ(เจ้า) อันมีประวัติว่า พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่าการเข้า "ฌาน" เพื่อให้บรรลุ "ญาณ" จนเวลาผ่านไปจนถึง ...
          ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ" คือทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น
          ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
          ยามสาม : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือรู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจสี่ ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งขณะนั้น พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษาธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ อริยสัจ ๔ หรือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่
๑. ทุกข์ คือ ความลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
๒. สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ และ
๔. มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์
ทั้ง ๔ ข้อนี้ถือเป็นสัจธรรม เรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทรงค้นพบ เป็นสัจธรรมชั้นสูง ประเสริฐกว่าสัจธรรมสามัญทั่วไป

ปรินิพพาน
           เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ร่มไม้รัง (ต้นสาละ) คู่ ในสาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป) การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ถือเป็นวันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลกเพราะชาวพุทธทั่วโลกได้สูญเสียดวงประทีปของโลก เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และครั้งสำคัญชาวพุทธทั่วไปมีความเศร้าสลดเสียใจและอาลัยสุดจะพรรณนา อันมีประวัติว่าเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมมาเป็นเวลานานถึง ๔๕ ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๖ พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีนั้น ได้มีปริพาชกผู้หนึ่ง ชื่อสุภัททะขอเข้าเฝ้า และได้อุปสมบทเป็นพระพุทธสาวกองค์สุดท้าย เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน ๖ นั้น

ปรินิพพาน

ปรินิพพาน

พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทับอยู่ ณ ใต้ต้นสาละทั้งคู่ ตรัสให้พระอานนท์เรียกประชุมพระสงฆ์ แล้วได้ประทานพุทธโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า อานนท์ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว หากจะพึงมีภิกษุบางรูปดำริว่า พระศาสดาของเราปรินิพพานแล้ว บัดนี้ ศาสดาของเราไม่มี อานนท์ ท่านทั้งหลายไม่ควรดำริอย่างนั้น ไม่ควรเห็นอย่างนั้น แท้จริง วินัยที่เราได้บัญญัติแก่ท่านทั้งหลายก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลายก็ดี เมื่อเราล่วงไป ธรรมและวินัยนั้น ๆ แล จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย สิ่งอื่นใด ๆ อย่าได้นำมาเป็นที่พึ่งพาว่าเป็นพระศาสดา นอกจากพระธรรมวินัยเถิด
ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม ความสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงบำเพ็ญไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด
เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสพระโอวาทประทานเป็นวาระสุดท้ายเพียงเท่านี้แล้ว ก็หยุด มิได้ตรัสอะไรอีกเลย ทรงทำปรินิพพานบริกรรมด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง 9 โดยอนุโลมเป็นลำดับดังนี้ คือ-
ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาณแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สมาบัติที่ 9
สัญญาเวทยิตนิโรธนี้ มีอาการสงบที่สุด ถึงดับสัญญาและเวทนา ไม่รู้สึกทั้งกายทั้งใจทุกประการ แม้ลมหายใจเข้าออกก็หยุด สงบยิ่งกว่านอนหลับ ผู้ไม่คุ้นเคยกับสมาบัตินี้ อาจคิดเห็นไปว่าตายแล้ว ดังนั้นพระอานนท์เถระเจ้า ผู้นั่งเฝ้าดูพระอาการอยู่ตลอดทุกระยะ ได้เกิดวิตกจิต คิดว่า พระบรมศาสดาคงจะเสด็จนิพพานแล้ว จึงได้เรียนถามพระอนุรุทธเถระเจ้า ผู้เชี่ยวชาญในสมาบัตินี้ว่า "ข้าแต่ท่านอนุรุทธ พระบรมศาสดาเสด็จนิพพานแล้วหรือยัง"
"ยัง ท่านอานนท์ ขณะนี้พระบรมศาสดากำลังเสด็จอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ" พระอนุรุทธบอก
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ตามเวลาที่พระองค์ทรงกำหนดแล้ว ก็เสด็จออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะ ถอยออกจากสมาบัตินั้นโดยปฏิโลมเป็นลำดับจงถึงปฐมฌาน ต่อนั้นก็ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน อีกวาระหนึ่ง ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน เมื่อออกจากจตุตถฌานแล้ว ก็เสด็จปรินิพพาน ณ ปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาขะปุรณมี เพ็ญเดือน 6 มหามงคลสมัย ด้วยประการฉะนี้
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ก็บังเกิดมหัศจรรย์ แผ่นดินไหวกลองทิพย์ก็บันลือลั่น กึกก้องด้วยสัททสำเนียงเสียงสนั่นในนภากาศ เป็นมหาโกลาหล ในปัจฉิมกาล พร้อมกับขณะเวลาปรินิพพานของสมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นนาถะของโลก
ขณะนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ท้าวโกสีย์สักกะเทวราช พระอนุรุทธเถระเจ้า และพระอานนท์เถระเจ้า ได้กล่าวคาถาสรรเสริญพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงความไม่เที่ยงถาวรของสัตว์ สังขารทั่วไป ด้วยความเลื่อมใส และความสลดใจ ในการปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาของมวลเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ขณะนั้น บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายทั้งปวง ที่ประชุมอยู่ในอุทยานสาลวันนั้น ต่างก็เศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ปริเทวนาการ คร่ำครวญถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่น่าสลดใจยิ่งนัก พระอนุรุทธเถระเจ้า และพระอานนท์เถระเจ้า ได้แสดงธรรมิกถาปลุกปลอบ บรรเทาจิตบริษัทให้เสื่อมสร่างจากความเศร้าโศก ตามควรแก่วิสัยและควรแก่เวลา
ครั้นสว่างแล้ว พระอนุรุทธเถระเจ้าก็มีเถระบัญชาให้พระอานนท์รีบเข้าไปในเมืองกุสินารา แจ้งข่าวปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคแก่มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อมัลลกษัตริย์ได้สดับข่าวปรินิพพาน ก็กำสรดโศก ด้วยความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นกำลัง จึงดำรัสสั่งให้ประกาศข่าวปรินิพพาน แก่ชาวเมืองให้ทั่วนครกุสินารา แล้วนำเครื่องสักการบูชา นานาสุคนธชาติ พร้อมด้วยผ้าขาว 500 พับ เสด็จไปยังสาลวัน ที่เสด็จปรินิพพาน ทำสักการบูชาพระสรีระพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยบุบผามาลัยสุคนธชาติเป็นเอนกประการ
มหาชนเป็นอันมาก แม้จะอยู่ในที่ไกล เมื่อได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ต่างก็ถือนานาสุคนธชาติมาสักการบูชามากมายสุดจะคณนา เวลาค่ำก็ตามชวาลาสว่างไสวทั่วสาลวัน ประชาชนต่างพากันมาไม่ขาดสาย ตลอดเวลา 6 วัน ไม่มีหยุด พากันรีบรุดมาทำสักการบูชาด้วยความเลื่อมใส ถวายความเคารพอันสูงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ครั้นวันที่ 7 มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้ปรึกษาพร้อมใจกัน ในการจะอัญเชิญพระสรีระของพระผู้มีพระภาคไปโดยทิศทักษิณแห่งพระนคร เพื่อถวายพระเพลิงยังภายนอกพระนคร เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว ก็เตรียมอัญเชิญพระสรีระศพ แต่ก็ไม่สามารถจะอัญเชิญไปได้ แม้แต่จะขยับเขยื้อนให้เคลื่อนจากสถานที่สักน้อยหนึ่ง มัลลกษัตริย์พากันตกตลึงในเหตุอัศจรรย์ที่ไม่เคยประสบเช่นนั้น จึงได้พร้อมกันไปเรียนถามท่านพระอนุรุทธะเถระเจ้า ซึ่งเป็นประธานสงฆ์อยู่ ณ ที่นั้นว่า “ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะ ด้วยเหตุไฉน ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงจะสามารถเขยื่อนเคลื่อนพระสรีระพระผู้มีพระภาคเจ้า จากสถานที่ประดิษฐานนั้นได้เล่า พระคุณเจ้า" "เพราะพระองค์ทำไม่ต้องประสงค์ของเทวดา" พระอนุรุทธะเถระกล่าว "เทวดาจึงไม่ยอมให้พระพุทธสรีระเขยื่อนเคลื่อนจากที่" "เทวดาทั้งหลาย มีความประสงค์เป็นฉันใดเล่า ท่านพระอนุรุทธะ ผู้เจริญ" "เทวดาทุกองค์ มีความประสงค์ให้อัญเชิญพระสรีระศพของพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าพระนครก่อน โดยเข้าทางประตูทิศอุดร เชิญไปในท่ามกลางพระนคร แล้วออกจากพระนคร โดยทางประตูทิศบูรพา แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานถวายพระเพลิงที่มกุฎพันธนะเจดีย์ ด้านทิศตะวันออกแห่งเมืองกุสินารานคร เทวดามีความประสงค์ดังนี้ เมื่อพระองค์ทำขัดกับความประสงค์ของเทวดา จึงไม่สำเร็จ"
ครั้นมัลลกษัตริย์ได้ทราบเทวาธิบายเช่นนั้น ก็ทรงผ่อนผันอนุวัตรให้เป็นไปตามประสงค์ของเทวดา จัดการอัญเชิญพระสรีระศพของพระผู้มีพระภาค เขยอนเคลื่อนจากสถานที่นั้นไปได้อย่างง่ายดาย แล้วก็อัญเชิญพระพุทธสรีระศพขึ้นประดิษฐานบนเตียงมาลาอาสน์ ซึ่งตกแต่งด้วยอาภรณ์อันวิจิตร แล้วเคลื่อนขบวนอัญเชิญไปโดยทางอุตรทิศเข้าไปภายในแห่งพระนคร ประชาชนพากันมาสโมสรเข้าขบวนแห่ตามพระพุทธสรีระศพสุดประมาณ เสียงดุริยางค์ดนตรีแซ่ประสานกับเสียงมหาชน ดังสนั่นลั่นโกลาหลเป็นมหัศจรรย์ ทั้งดอกมณฑาอันเป็นของทิพย์ในสรวงสวรรค์ก็ล่วงหล่นลงมาสักการบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ขบวนมหาชนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพได้ผ่านไปในวิถีทางท่ามกลางพระนครกุสินารา ประชาชนทุกถ้วนหน้าพากันสักการบูชาทั่วทุกสถาน ตลอดทางที่พระพุทธสรีระศพจะแห่ผ่านไปตามลำดับ
ขณะนั้น นางมัลลิกา ผู้เป็นภรรยาของท่านพันธุละเสนาบดี ซึ่งมีนิเวศน์อยู่ในนครนั้น ครั้นได้ทราบว่า ขบวนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพจะผ่านทางนั้น นางก็มีความยินดี ที่จะได้อัญชลีอภิวาทเป็นครั้งสุดท้าย นางจึงดำริด้วยความเลื่อมใสว่า นับตั้งแต่ท่านพันธุละล่วงลับไปแล้ว เครื่องประดับอันมีชื่อว่า มหาลดาประสาธน์ เราก็มิได้ตกแต่ง คงเก็บรักษาไว้เป็นอันดี ควรจะถวายเป็นอาภรณ์ประดับพระพุทธสรีระพระชินสีห์ในอวสานกาลบัดนี้เถิด
อันเครื่องอาภรณ์มหาลดาประสาธน์นี้ งามวิจิตรมีค่ามากถึง 90 ล้าน เพราะประกอบด้วยรัตนะ 7 ประการ ในสมัยนั้นมีอยู่เพียง 3 เครื่อง คือ ของนางวิสาขา 1 ของนางมัลลิกา ภรรยาท่านพันธุละ 1 ของเศรษฐีธิดา ภรรยาท่านเทวปานิยสาระ 1 ซึ่งเป็นอาภรณ์ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นของสำหรับผู้มีบุญ
ครั้นเมื่อขบวนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพผ่านมาถึงหน้าบ้านนางมัลลิกา นางจึงได้ขอร้องแสดงความประสงค์จะบูชาด้วยอาภรณ์มหาลดาประสาธน์ มหาชนผู้อัญเชิญพระพุทธสรีระศพก็วางเตียงมาลาอาสน์ ที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระลง ให้นางมัลลิกาถวายอภิวาท เชิญเครื่องมหาลดประสาธน์สรวมพระพุทธสรีระศพ เป็นเครื่องสักการบูชา ขณะนั้นพระพุทธสรีระศพก็งามโอภาศ เป็นที่เจริญตาเจริญใจ ปรากฏแก่มหาชนทั้งหลาย ต่างพากันแซ่ซร้องสาธุการเป็นอันมาก แล้วมหาชนก็อัญเชิญพระพุทธสรีระศพเคลื่อนจากที่นั้น ออกจากประตูเมืองด้านบูรพทิศ ไปสู่มกุฏพันธนะเจดีย์
ครั้นถึงยังที่จิตรกาธาร อันสำเร็จด้วยไม้จันทน์หอม งามวิจิตร ซึ่งได้จัดทำไว้แล้ว ก็จัดการห่อพระพุทธสรีระศพด้วยทุกุลพัสตร์ภูษา 500 ชั้น แล้วก็อัญเชิญลงประดิษฐานในหีบทอง ซึ่งเต็มด้วยน้ำมันหอม ตามคำพระอานนท์เถระแจ้งสิ้นทุกประการ
ครั้นเรียบร้อยแล้ว ก็อัญเชิญหีบทองนั้นขึ้นประดิษฐานบนจิตรกาธาร ทำสักการบูชา แล้วกษัตริย์มัลลราชทั้ง 8 องค์ ผู้เป็นประธานกษัตริย์ทั้งปวง ก็นำเอาเพลิงเข้าจุด เพื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เพลิงก็ไม่ติดตามประสงค์ แม้จะพยายามจุดเท่าใดก็ไม่บรรลุผล มัลลกษัตริย์มีความสงสัย จึงได้เรียนถามพระอนุรุทธเถระเจ้าว่า "ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะ ด้วยเหตุอันใด เพลิงจึงไม่ติดโพลงขึ้น" "เป็นเหตุด้วยเทวดาทั้งหลาย ยังไม่พอใจให้ถวายพระเพลิงก่อน" พระอนุรุทธะเถระกล่าว "เทวดาต้องการให้คอยท่าพระมหากัสสปเถระ หากพระมหากัสสปเถระยังมาไม่ถึงตราบใด ไฟจะไม่ติดตราบนั้น" "ก็พระมหากัสสปเถระเจ้า ขณะนี้อยู่ที่ไหนเล่า ท่านผู้เจริญ" "ดูกรมหาบพิตร ขณะนี้ พระมหากัสสปะเถระ กำลังเดินทางมา ใกล้จะถึงอยู่แล้ว" พระเถระกล่าว
กษัตริย์มัลลราชทั้งหลาย ก็อนุวัตรตามความประสงค์ของเทวดา พักคอยท่าพระมหากัสสปเถระเจ้าอยู่ เมื่อพระมหากัสสปเถระเดินทางพร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์เดินทางมาถึงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพรสรีระะศพพระพุทธเจ้า การทำการไหว้พระสรีระศพพระพุทธเจ้า จากนั้นก็เดินลงจากที่ประดิษฐานพระสรีระศพพระพุทธเจ้า ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ไฟที่ถวายพระสรีระศพเกิดผลันลุกติดขึ้นมาทันดล โดยมีเหตุปัจจัยเกิดจากอำนาจของเหล่าเทวดา พระเพลิงลุกโชติช่วงมีดอกไม้ทิพย์ร่วงโรย มีดนตรีทิพย์บรรเลงตลอดพิธี

ประสูติและก่อนตรัสรู้

ประสูติและก่อนตรัสรู้

เมื่อนับถอยหลังแต่บัดนี้ไปประมาณ 3,000 ปี ก่อนพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลก หรือก่อนพระพุทธศักราช 500 ปีเศษ ในประเทศอินเดีย มีเมือง ๆ หนึ่ง ตั้งอยู่ข้างทิศเหนือ ไม่ปรากฏชื่อ ใกล้แคว้นสักกะชนบท พระเจ้าอุกกากะราชเป็นกษัตริย์ปกครอง พระองค์มีพระโอรสพระธิดา 9 พระองค์ คือ
  1. พระเชฏฐภคินี ไม่ปรากฏพระนาม
  2. พระอุกกามุข
  3. พระกรกัณฑุ
  4. พระหัตถินีก
  5. พระสินิปุระ
  6. พระกนิฏฐภคินี ไม่ปรากฏพระนาม
พระโอรสและพระธิดาทั้ง 9 พระองค์นี้ ประสูติแต่พระมเหสีเก่า ครั้นพระมเหสีเก่าทิวงคตแล้ว พระเจ้าอุกกากะราช มีพระมเหสีใหม่ ได้พระโอรสซึ่งประสูติแต่พระมเหสีนี้ 1 พระองค์ มีพระราชประสงค์จะพระราชทานราชสมบัติแก่พระโอรสองค์น้อยนี้ ซึ่งพระมเหสีผู้โปรดปรานทูลขอให้ จึงรับสั่งให้พระโอรสและพระธิดาทั้ง 9 ซึ่งมีพระอุกกามุขราชกุมารเป็นหัวหน้า ยกจาตุรงคเสนาพร้อมด้วยช่างทุกหมู่ ตลอดกสิกร สัตว์พาหนะและปศุสัตว์ทุกประเภท ยกไปสร้างพระนครใหม่ อยู่ที่ดงไม้สักกะ ใกล้ภูเขาหิมพาน อันเป็นชัยมงคลสถานที่อยู่ของกบิลดาบส
ครั้นได้สร้างพระนครแล้ว จึงขนานนามพระนครนี้ว่า กบิลพัสดุ์ โดยอาศัยชื่อของกบิลดาบส เจ้าของถิ่นเดิมเป็นนิมิต ภายหลังกษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์นั้น เกรงจะเสื่อมเสียขัตติยวงศ์ หากจะไปอภิเษกสมรสด้วยกษัตริย์อื่น ด้วยพระโอรสที่เกิดมาจะไม่เป็นอุภโตสุชาติ คือ เกิดจากมารดาและบิดาดีไม่พร้อมทั้งสองฝ่าย ดีเฉพาะบิดาฝ่ายเดียว จึงได้อภิเษกสมรสด้วยเจ้าหญิงทั้ง 4 ผู้เป็นกนิฏฐภคินี ยกขึ้นเป็นอัครมเหสีสืบราชสันตติวงศ์
ต่อมาพระเจ้าอุกกากะราช ตรัสถามข่าวถึงพระโอรสและพระธิดาด้วยความเป็นห่วง อำมาตย์ได้กราบทูลพฤติการณ์ของพระโอรสทั้งหลายให้ทรงทราบ พระองค์ทรงได้ปราโมทย์ ตรัสสรรเสริญพระโอรสทั้งหลายว่า เป็นผู้สามารถดี ด้วยคำว่า สักกะ แปลว่า อาจ ด้วยพระวาจานี้ได้ถือเป็นมงคลนิมิตของกษัตริย์นครกบิลพัสดุ์ว่า ศากยะ ดังนั้นกษัตริย์วงศ์นี้ จึงมีนามว่า ศากยวงศ์ ดำรงขัตติยสกุลสืบมา
ฝ่ายพระเชฏฐภคินี เจ้าหญิงผู้พี่นั้น ได้อภิเษกสมสู่ด้วยพระเจ้ากรุงเทวทหะ ตั้งวงศ์กษัตริย์อีกวงศ์หนึ่ง เรียกว่า โกลิยวงศ์ ดำรงขัตติยสกุลสืบมา
กษัตริย์ศากยสกุลในพระนครกบิลพัสดุ์ สืบเชื้อสายจำเนียรกาลลงมาโดยลำดับ ถึงพระเจ้าชยเสนะ ทรงครองราช พระองค์มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง พระนามว่า สีหหนุ พระราชบุตรีพระองค์หนึ่ง พระนามว่า ยโสธรา ครั้นพระเจ้าชยเสนะทิวงคตแล้ว สีหหนุกุมารผู้เป็นรัชทายาท ก็ทรงสืบศากยวงศ์ ได้ทรงขอพระนางกาญจนาพระกนิฏฐภคินีของพระเจ้าอัญชนะ กษัตริย์แห่งนครเทวทหะ มาเป็นพระมเหสี มีพระราชบุตรพระราชบุตรี แต่พระนางกาญจนาเทวี 7 พระองค์ เป็นชาย 5 พระองค์ คือ สุทโธทนะ 1 สุกโกทนะ 1 อมิโตทนะ 1 โธโตทนะ 1 ฆมิโตทนะ 1 เป็นหญิง 2 พระองค์ คือ ปมิตา 1 อมิตา 1
พระเจ้าอัญชนะกษัตริย์แห่งนครเทวทหะ ก็ได้ทูลขอพระนางยโสธรา พระกนิฏฐภคินี ของพระเจ้าสีหหนุไปเป็นมเหสี มีพระราชบุตรพระราชบุตรี 4 พระองค์ เป็นชาย 2 พระองค์ คือ สุปปพุทธะ 1 ทัณฑปาณิ 1 เป็นหญิง 2 พระองค์ คือ มายา 1 ปชาบดี 1 พระองค์หลังนี้เรียกว่า โคตมี บ้าง ต่อมาพระเจ้าสีหหนุได้ทูลขอพระนางมายา พระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะ แห่งเทวทหะนคร ให้เป็นพระชายาของพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบุตรองค์ใหญ่ ทรงประกอบพระราชพิธีมงคลอภิเษกสมรสในงานครั้งนี้เป็นการใหญ่ ณ ปราสาทโกกนุท ที่อโศกอุทยาน พระนครเทวทหะ ครั้นพระเจ้าสีหหนุทิวงคตแล้ว สุทโธทนะราชกุมาร ก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบศากยวงศ์ต่อมา
ในกาลนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าบังเกิดเป็นสันตุสิตเทวราช เสวยทิพยสมบัติอยู่ในรัตนวิมานสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลก ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมและเทวราชในสวรรค์ทั้ง 6 ชั้นฟ้า ชวนกันไปเฝ้ากราบทูลอาราธนาพระบรมโพธิสัตว์เจ้า จุติลงไปบังเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษยโลก เพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า แสดงธรรมสั่งสอนประชากรให้รู้ธรรมและประพฤติธรรม สมดังที่พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีตั้งพระทัยไว้แต่แรก
พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ยังมิได้รับอาราธนาของทวยเทพทั้งหลายก่อน ทรงพิจารณาดู ปัญจมหาวิโลกนะ 5 ประการ คือ 1. กาล 2. ประเทศ 3. ตระกูล 4. มารดา 5. อายุ เห็นว่าอยู่ในสถานที่ควรจะเสด็จจุติลงได้ ด้วยจะสำเร็จดังมโนปณิธานที่ทรงตั้งไว้ จึงได้ทรงรับคำทูลเชิญของมวลเทพนิกร
เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ส่งเทพเจ้าทั้งหลายกลับคืนนิวาสถานของตน ๆ แล้ว เสด็จแวดล้อมไปด้วยเทพบริวาร ไปสู่นันทวันอุทยาน อันมีในดุสิตเทวโลก เสด็จประภาสรื่นรมณ์อยู่ในทิพย์อุทยานนั้น ครั้นได้เวลาอันสมควรก็เสด็จจุติลงมาปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางเจ้ามายาราชเทวี อัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ณ พระนครกบิลพัสดุ์ ในวันเพ็ญ เดือน 8 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
ในราตรีกาลวันอาสาฬหปุรณมี เพ็ญเดือน 8 นั้น พระนางเจ้ามายาราชเทวีทรงอธิษฐานสมาทานอุโบสถศีล เสด็จบรรทมบนพระแท่นที่ ในเวลารุ่งสุริยรังษีปัจจุบันสมัย ทรงพระสุบินนิมิตว่า
"ท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 มายกพระองค์ไปพร้อมกับพระแท่นที่ผทม เอาไปวางไว้บนแผ่นมโนศิลา ภายใต้ต้นรังใหญ่ แล้วมีนางเทพธิดามาทูลเชิญให้เสด็จไปสรงน้ำในสระอโนดาษ ชำระล้างมลทินแห่งมนุษย์แล้ว ทรงผลัดด้วยผ้าทิพย์ ลูบไล้ด้วยเครื่องหอมอันเป็นทิพย์ ทั้งประดับด้วยทิพย์บุบผาชาติ ใกล้ภูเขาเงินภูเขาทอง แล้วเชิญเสด็จให้เข้าผทมในวิมานทอง บ่ายพระเศียรไปยังปราจีนทิศ (ตะวันออก) ขณะนั้นมีเศวตกุญชร ช้างเผือกเชือกหนึ่ง ชูงวงจับดอกปุณฑริกปทุมชาติ (บัวขาว) เพิ่งแย้มบาน กลิ่นหอมฟุ้งตระหลบ ลงจากภูเขาทองด้านอุตตรทิศ ร้องก้องโกญจนาทเดินเข้าไปในวิมาน ทำปทักษิณเวียนพระแท่นที่ผทมได้ 3 รอบ แล้วปรากฏเสมือนเข้าไปสู่พระอุทรทางเบื้องขวาของพระราชเทวี" ก็พอดีพระนางเจ้าเสด็จตื่นบรรทม ขณะนั้นก็พลันบังเกิดกัมปนาทแผ่นดินไหว มีรัศมีสว่างไปทั่วโลกธาตุ เป็นบุพพนิมิตโดยธรรมนิยม ในเวลาพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเสด็จลงปฏิสนธิในพระครรภ์พระนางเจ้ามายาราชเทวี
ครั้นเวลารุ่งเช้า พระนางเจ้ามายาราชเทวี จึงกราบทูลเรื่องพระสุบินนิมิตเมื่อราตรีแก่พระราชสามี พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช จึงรับสั่งให้เชิญพราหมณ์ปาโมกข์โหราจารย์เข้ามาเฝ้า แล้วทรงเล่าเรื่องพระสุบินของพระราชเทวีให้ทำนาย พราหมณ์ทั้งหลายก็ทูลพยากรณ์ว่า พระสุบินของพระราชเทวี เป็นมงคลนิมิตปรากฏ พระองค์จะได้พระปิโยรส เป็นอัครบุรุษมนุษย์ชายชาติเชื้ออาชาไนย มีบุญญาธิการยิ่งใหญ่ในโลกสันนิวาส เป็นที่พึ่งของประชาชาติไม่มีผู้ใดเสมอ พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงสดับก็ทรงโสมนัส โปรดประทานการบริหารพระครรภ์พระราชเทวีเป็นอย่างดี ให้สนมอยู่ประจำที่คอยอภิบาลอยู่ตลอดเวลา
เมื่อพระนางเจ้ามายาราชเทวีทรงพระครรภ์อยู่ถ้วนทศมาส 10 เดือนบริบูรณ์แล้วมีพระทัยปรารถนาจะเสด็จไปเมืองเทวทหะนคร อันเป็นชาติภูมิของพระองค์ จึงกราบทูลลาพระเจ้าสุทโธทนะพระราชสามี ครั้นได้รับพระราชทานอนุมัติแล้ว ก็เสด็จโดยราชยานสีวิกามาศ (วอทอง) แวดล้อมด้วยเสนามาตย์ราชบริพาร ตามเสด็จถวายอารักขาเป็นอย่างดี ในวันวิสาขะปุณณมี เพ็ญเดือน 6 ออกจากพระนครในเวลาเช้า เสด็จไปตามมรรคาโดยสวัสดี ตราบเท่าบรรลุถึงลุมพินีสถาน อันตั้งอยู่ในระหว่างพระนครทั้งสอง คือ พระนครกบิลพัสดุ์และพระนครเทวทหะ เป็นรมณียสถาน บริบูรณ์ด้วยรุกขบุบผาผลาชาติ กำลังผลิตดอกออกผล หอมฟุ้งขจรจบในบริเวณนั้น พระนางเจ้ามีพระทัยปรารถนาจะเสด็จประพาส จึงอำมาตย์ทั้งหลายก็เชิญเสด็จแวะจากมรรคา เสด็จเข้าสู่ลุมพินีวัน เสด็จลงจากราชยานสีวิกามาศ แวดล้อมด้วยพระพี่เลี้ยงและนารีราชบริวารเป็นอันมาก เสด็จดำเนินไปถึงร่มไม้สาละพฤกษ์ ทรงยกพระหัตถ์เหนี่ยวกิ่งสาละซึ่งอ่อนน้อมค้อมลงมา ขณะนั้นก็ประจวบลมกัมมัชวาตหวั่นไหวประชวรพระครรภ์ ใกล้ประสูติ เจ้าพนักงานทั้งหลายก็รีบจัดสถานที่ผูกม่านแวดวงเข้ากับภายใต้ร่มไม้สาละถวายเท่าที่พอจะทำได้ แล้วก็ชวนกันออกมาภายนอก เทพยดาในหมื่นจักรวาลมาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น พระนางเจ้ามายาเทวี ทรงนุ่งโกสัยพัสตร์ขจิตด้วยทอง ทรงห่มทุกุลพัสตร์คลุมพระองค์ลงไปถึงหลังพระบาท ประทับยืนผันพระปฤษฏางค์พิงเข้ากับลำต้นมงคลสาละพฤกษ์ พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งสาละ ทอดพระเนตรไปยังปราจีนทิศ

เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ
ในกาลนั้น เป็นมหามงคลหุติฤกษ์ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าประสูติจากมาตุคัพโภทร ท้าวสุธาวาสมหาพรหมทั้ง 4 พระองค์ ก็ทรงถือข่ายทองรองรับพระกายไว้ ในที่เฉพาะพระพักตร์พระราชเทวีแล้วกล่าวว่า พระแม่เจ้าจงทรงโสมนัสเถิด พระราชโอรสที่ประสูตินี้ มีมเหศักดาอานุภาพยิ่งนัก ขณะนั้นท่ออุทกธาราทั้งสองก็ไหลหลั่งลงมาจากอากาศ ท่อธารหนึ่งเป็นน้ำร้อน ท่อธารหนึ่งเป็นน้ำเย็น ตกลงมาโสรจสรงพระกายพระกุมารกับพระราชมารดา
พระสิทธัตถะกุมาร
ลำดับนั้นท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 พระองค์ ก็ทรงรับพระราชกุมารไปจากพระหัตถ์ท้าวมหาพรหม โดยรองรับพระองค์ด้วยอชินจัมมาชาติ อันมีสุขสัมผัส ซึ่งสมมุติว่าเป็นมงคลในโลก ต่อนั้น นางนมทั้งหลายจึงรองรับพระองค์ด้วยผ้าทุกุลพัสตร์จากพระหัตถ์ท้าวจตุโลกบาล และขณะนั้นพระราชกุมาร ก็เสด็จอุฏฐาการลงจากมือนางนมทั้งหลาย เสด็จเหยียบยืนยังพื้นภูมิภาค ด้วยพระบาททั้งสองเสมอเป็นอันดี ท้าวมหาพรหมก็ทรงเปรมปรีย์ ทรงทิพย์เศวตฉัตรกลางกั้น กันละอองมิให้มาถูกต้องพระยุคลบาท ท้าวสยามเทวราช ทรงซึ่งทิพย์วาลวิชนีอันวิจิตร เทพบุตรที่มีมหิทธิฤทธิ์องค์หนึ่ง ถือพระขรรค์อันขจิตด้วยแก้ว 7 ประการ เทพบุตรองค์หนึ่งยืนประดิษฐานถือฉลองพระบาทชาตรูปมัยทั้งคู่ เทพบุตรองค์หนึ่งยืนเชิดชูทิพยมหามงกุฏ ล้วนเป็นเกียรติแก่พระกุมาร ซึ่งเพียบพร้อมด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้ง 5 ปรากฏแก่นัยน์ตาของมวลมนุษย์ แต่เทพยดาทั้งหลายที่ถือนั้นมิได้เห็นปรากฏ
ครั้นพระกุมารทอดพระเนตรไปยังปราจีนทิศ เห็นเทพยดามนุษย์เป็นอันมาก มาสโมสรสันนิบาตในลานอันเดียวกัน และเทพยดาทั้งปวงนั้นทำสักการบูชาด้วยบุบผาชาติต่าง ๆ ตั้งไว้บนเศียรเกล้า แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระกุมาร พระองค์เป็นผู้ประเสริฐสุด จะหาบุคคลในโลกนี้เสมอด้วยพระองค์มิได้มี ครั้นแล้วพระกุมารเจ้าก็บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุตตรทิศ เสด็จย่างพระบาทไปบนพื้นแผ่นทอง อันท้าวจตุโลกบาลถือรองรับไว้ได้ 7 ก้าว แล้วทรงหยุดประทับยืนบนทิพยปทุมบุบผาชาติ อันมีกลีบได้ 100 กลีบ ทรงเปร่งพระสุรเสียงอันไพเราะดุจเสียงท้าวมหาพรหม ดำรัสอาภิสวาจาด้วยพระคาถาว่า
อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐ เสฏฺโฐ หมสฺมิ อยนฺติมา เม ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว ฯ
ความว่า ในโลกนี้ เราเป็นยอด เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุด การเกิดของเรานี้เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปไม่มี
ขณะนั้น โลกธาตุก็บังเกิดมหัศจรรย์หวั่นไหว รัศมีพระอาทิตย์ก็อ่อนมิได้ร้อนเย็นสบาย มหาเมฆก็ตั้งขึ้นในทิศทั้งหลาย ยังวัสโสทกให้ตกลงในที่นั้น ๆ โดยรอบ ทิศานุทิศทั้งหลายก็โอภาสสว่างยิ่งนัก ทั้งสรรพบุพพนิมิตปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ก็ปรากฏมี ดุจการเมื่อเสด็จลงปฏิสนธิในพระครรภ์นั้น
และในวันพระกุมารประสูตินั้น มีมนุษย์และสัตว์ กับสิ่งซึ่งเป็นสหชาติมงคลบังเกิดร่วมกันวันทันสมัยถึง 7 คือ พระนางพิมพา 1 พระอานนท์ ผู้เป็นราชโอรสพระเจ้าอมิโตทนะ พระเจ้าอา 1 กัณฐกอัสวราช ม้าพระที่นั่ง 1 ไม้มหาโพธิ์ 1 กับขุมทอง 4 ขุม คือ ขุมทองสังขนิธี ขุมทองเอลนิธี ขุมทองอุบลนิธี ขุมทองปุณฑริกนิธี
ครั้นกษัตริย์ศากยราชทั้งสองพระนครทรงทราบข่าวสาร พระกุมารประสูติก็ทรงปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่งมาก จึงเสด็จมาอัญเชิญพระราชกุมารพร้อมด้วยพระชนนี แวดล้อมด้วยมหันตราชบริวาร กึกก้องด้วยดุริยะประโคมขาน แห่เสด็จคืนเข้าพระนครกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้จัดพี่เลี้ยง นางนม พร้อมด้วยเครื่องสูงแบบกษัตริย์ บำรุงพระราชกุมาร กับจัดแพทย์หลวงถวายการบริหารพระราชเทวี พระราชชนนีของพระกุมารเป็นอย่างดี

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อริยสัจ 4 คืออะไร มีอะไรบ้าง

อริสัจ 4 คือ หลักความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณและได้ค้นพบหลักความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ หรือ อริยสัจ 4 ซึ่งเป็นหลักธรรมหรือหลักความจริงแห่งการพ้นทุกข์ทั้งปวง
อริยสัจ 4 ประกอบด้วย
1. ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เป็นสภาพของความลำบากทั้งทางกายและทางใจ ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง ความเศร้าโศกเสียใจทั้งปวง เป็นต้น
2. สมุทัย คือ สาเหตุแห่งทุกข์นั้น ซึ่งความทุกข์ทั้งปวงมักเกิดจากความไม่รู้ ความไม่เข้าใจในโลก ความอ่อนประสบการณ์ในชีวิต ซึ่งความไม่รู้เหล่านี้เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง
3. นิโรธ คือ ความไม่มีทุกข์ ซึ่งก็หมายถึงการเข้าใจในสมุทัย ความเข้าใจสาเหตุแห่งทุกข์ ความเศร้ามัวหมองทั้งปวง
4. มรรค คือ หนทางแห่งการดับทุกข์ ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า มรรคมีองค์ 8 หรือ วิธีการดับทุกข์ทั้งปวงนั้นมีอยู่ 8 ประการนั่นเอง
อริยสัจ 4
มรรค 8 ประกอบด้วย
1. สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ
2. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ
3. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ
4. สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม
5. สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน
6. สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะพยายาม
7. สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ
8. สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ไหน ??

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ไหน ??

พุทธคยา ปัจจุบันตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ไกลจากฝั่งแม่น้ำประมาณ 350 เมตร (นับจากพระแท่นวัชรอาสน์) พุทธคยามีสัญลักษณ์ที่สำคัญคือองค์เจดีย์สี่เหลี่ยมที่สูงใหญ่ โดยสูงถึง 51 เมตร ฐานวัดโดยรอบได้ 121.29 เมตร ล้อมรอบด้วยโบราณวัตถุ โบราณสถานสำคัญ เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ ที่ประทับตรัสรู้ และอนิมิสสเจดีย์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากพุทธสถานโบราณแล้ว บริเวณโดยรอบพุทธคยายังเป็นที่ตั้งของวัดพุทธนานาชาติ รวมทั้งวัดไทยคือ วัดไทยพุทธคยา

สำหรับชาวพุทธ พุทธคยา นับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลกที่ต้องการมาสักการะสังเวชนียสถานสำคัญ 1 ใน 4 แห่งของพระพุทธศาสนา โดยในปี พ.ศ. 2545 วัดมหาโพธิ (พุทธคยา) สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ขององค์การยูเนสโก

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ไหน ??

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ในใจของพระองค์...ด้วยการกำหนดสติเฝ้าดูกาย
ดูใจอยู่ตลอดเวลา โดยอาศัยป่าเป็นส่วนประกอบในการทำความ
เพียรเพราะป่านั้นเงียบสงบ

ในความเงียบสงัด ก็จะมีความชุ่มเย็นอยู่ภายในนั้นเสมอ ป่า คือป่า
ป่าตรัสรู้ไม่ได้

ชาวป่าชาวเขาที่เกิดในป่า อยู่ในป่า จนกระทั่งตายในป่าก็ไม่เห็นมี
ใครจะตรัสรู้ได้

...'ใจ' เท่านั้น ที่จะเป็นผู้ตรัสรู้ ธรรมะของพระพุทธศาสนาจึงเป็น
เรื่องของใจเท่านั้น

นักปฏิบัติส่วนมากยังไม่เข้าใจว่า ความสงบที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหน
บางครั้งมีโอกาสอยู่กับสถานที่สงบแล้ว ยังบอกว่าไม่สงบ โดยโทษ
สิ่งภายนอกว่า เพราะสภาพแวดล้อมต่างๆ อันเป็นเสียงบ้าง บุคคล
บ้าง สิ่งนั้นสิ่งนี้บ้างคือต้นเหตุของความไม่สงบ

จิตเกิดการผลักต้านปรากฏการณ์โดย ไม่รู้เท่าทันจิตปรุงแต่งของตน
จึงพยายามที่จะหนีไปให้ไกลจากสิ่งเหล่านั้น อยากไปอยู่ในป่าในเขา
ที่ไกลๆ หรือในถ้ำที่เงียบสงบ ซึ่งปราศจากผู้คนและเสียงต่างๆ ที่จะ
มารบกวนได้พยายามแสวงหาความสงบจากสิ่งภายนอก โดยเข้าใจ
เอาเองว่า ความสงบและไม่สงบนั้น เกิดจากสิ่งภายนอกเท่านั้น...

ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะพบความสงบที่แท้จริงได้สักที แม้จะพยายาม
หามานานแสนนาน ก็ยังหาไม่เจอ นั่นเพราะยังไม่เข้าใจ และยังหาไม่
ถูกจุดต่างหาก ขออธิบายว่า หากป่านอก ถ้ำนอกจะสงบเงียบแค่ไหน
แต่ป่าใน ถ้ำใน คือจิตใจของท่าน ยังไม่ยอมเงียบสงบ ป่านอกถ้ำนอก
ก็หาจะเงียบสงบสำหรับท่านไม่

เพราะความสงบหรือไม่สงบที่แท้จริงนั้น เกิดจากข้างในคือ จิตใจ
ของท่านต่างหากที่เป็นต้นเหตุ หากจิตภายในไม่สงบทุกที่ก็ไม่สงบ
จะอยู่ที่ไหนๆ มันก็ไม่สงบ

เสียงต่างๆและสิ่งต่างๆทางภายนอกนั้น มันเป็นธรรมชาติ มันเป็น
เช่นนั้นเอง ซึ่งท่านห้ามมันมิให้เกิดได้หรือไม่ และท่านห้ามหูตัวเอง
มิให้รับเสียง ห้ามตาตัวเองมิให้เห็นรูปได้หรือไม่ เมื่อห้ามไม่ได้ทำไม
ท่านไม่ห้ามใจตนเองล่ะ ด้วยการรับรู้แล้ว ปล่อยมันผ่านไปเสีย อย่า
ดูดรั้งหรือผลักต้าน

ดังนั้น ท่านจะต้องทำใจ ด้วยการ "รู้" แล้วปล่อยไปเท่านั้น
ดังเช่น..."ธรรมชาติของน้ำ คือน้ำที่ไม่ไหลขังไว้ย่อมเน่าฉันใด
จิตที่รู้เรื่องอะไรแล้วไม่ยอมปล่อย ย่อมทุกข์ฉันนั้น". และธรรม
ที่แท้นั้นเป็นกลางๆ ใครปล่อยวางได้ก็สบาย เบาใจไม่หนักใจ

เมื่อรู้ความจริงแล้วว่า เหตุเกิดแห่งความสงบและไม่สงบนั้น
อยู่ที่ใจ ก็จงแสวงหาป่าใจถ้ำใจให้พบเถิด ด้วยการมี...'สติ'จับรู้อยู่แต่ปัจจุบัน ภายในกายภายในใจตนเท่านั้น

ไม่ต้องคิดอยากทำสมาธิให้เจริญสติรู้อยู่กับปัจจุบันให้ได้ตลอด
สายเท่านั้น ผลนั้นก็จะเกิดเป็นสมาธิขึ้นมาเองในที่สุด เพราะสมาธิ
คือผลจากการเจริญสติต่างหาก

ยกตัวอย่าง...แม้แต่การนั่งสมาธิ กำหนดดูลมหายใจ ก็ต้องใช้
สติ เฝ้าดูเฝ้ารู้ลมที่เป็นปัจจุบันนั้นตลอดเวลา หากขาดสติตามดู
ตามรู้แล้ว สมาธิก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้อีกเช่นกัน เพราะเหตุ
ไม่มีผลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุมีผลจึงมี "สติ" จึงเป็นแม่ทัพใหญ่
ในกองทัพธรรม สติเป็นมรรค สมาธิเป็นผล ซึ่งดลให้เกิดปัญญา

จงแสวงหาสติเถิด เพื่อให้เกิดเป็นสมาธิ อันเป็นจิตหนึ่งจริงๆ...
คือ...ความสงบที่แท้จริง...ฯ